ดอกคำฝอย สรรพคุณและงานวิจัย
ชื่อสมุนไพร คำฝอย
ชื่ออื่นๆ ดอกคำฝอย , ดอยคำ(ภาคเหนือ) , คำยอง คำหยอง คำหยุม คำยุ่ม (ลำปาง) , หงฮวา (จีนกลาง) ,อั่งฮวย (จันแต่จิ๋ว)
ชื่อสามัญ Safflower , False Saffron , Saffron Thistle
ชื่อวิทยาศาสตร์ Carthamus tinctorius Linn
วงศ์ COMPOSITAE
ถิ่นกำเนิด
มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศตะวันออกกลาง มีทั้งพันธุ์ที่มีหนาม และไม่มีหนาม แบ่งเป็นพันธุ์ที่ปลูกและเติบโตได้ดีในเขตหนาว และเขตร้อน ปัจจุบันมีการเพาปลูกมากในประเทศอินเดีย แม็กซิโก เอธิโอเปีย และสหรัฐอเมริกา ในอินเดียใช้ดอกคำฝอยในการผลิตน้ำมันพืชเพื่อใช้ภายในประเทศ ส่วนประเทศจีนนิยมนำดอกไปใช้ในการแพทย์แผนโบราณสำหรับประเทศไทยมีการนำมาปลูกมากในภาคเหนือ แหล่งผลิตดอกคำฝอยที่สำคัญอยู่ทางภาคเหนือ เพาะปลูกกันมากในอำเภอพร้าว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ดอกคำฝอยในสมัยที่ได้บันทึกไว้ในกระดาษปาปิรัสของอียิปต์ พบมีการปลูกบริเวณลุ่มน้ำยูเฟรติสสำหรับใช้เป็นสีผสมน้ำมันสำหรับพิธีกรรมการทำมัมมี่ ปัจจุบันมีการปลูกในพื้นที่อียิปต์ อินเดีย จีน และประเทศใกล้เคียงรวมถึงในแถบเอเชียบริเวณประเทศจีน รัสเซีย และแถบประเทศที่มีอากาศเย็นแถบยุโรปเพื่อใช้สำหรับเป็นสีผสมอาหาร ผสมเนยแข็ง สีย้อมผ้า
ลักษณะทั่วไปดอกคำฝอย
จัดเป็นไม้ล้มลุก มีความสูงประมาณ 40-130 เซนติเมตร มีลำต้นเป็นสัน แตกกิ่งก้านมาก เป็นพืชที่มีอายุสั้น ทนแล้ง เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีระดับความสูงต่ำกว่า 1,000 เมตร ชอบดินร่วนปนทรายหรือดินที่มีการระบายน้ำได้ดี โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการงอกจะอยู่ระหว่าง 5-15 องศาเซลเซียส ส่วนอุณหภูมิที่เหมาะสมในช่วงออกดอกคือ 24-32 องศาเซลเซียส ใช้ระยะเวลาการปลูกประมาณ 80-120 วันจนเก็บเกี่ยว
• ใบคำฝอย มีใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปวงรี ลักษณะของใบคล้ายรูปหอกหรือรูปขอบขนาน ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ปลายเป็นหนามแหลม ใบมีความกว้างประมาณ 1-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-12 เซนติเมตร
• ดอกคำฝอย ออกดอกรวมกันเป็นช่ออัดแน่นบนฐานดอกที่ปลายยอด มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกคำฝอยมีลักษณะกลมคล้ายดอกดาวเรือง เมื่อดอกคำฝอยบานใหม่ ๆ จะมีกลีบดอกสีเหลืองแล้วจึงค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีส้ม เมื่อแก่จัดดอกจะเปลี่ยนเป็นสีส้มแดง ที่ดอกมีใบประดับแข็งเป็นหนามรองรับช่อดอกอยู่
• ผลคำฝอย ลักษณะของผลคล้ายรูปไข่หัวกลับ ผลเบี้ยว ๆ มีสีขาวงาช้างปลายตัด มีสัน 4 สัน ขนาดของผลยาวประมาณ 0.6-0.8 เซนติเมตร ผลเป็นผลแห้งไม่แตก ด้านในผลมีเมล็ดเป็นรูปสามเหลี่ยมยาวรี เปลือกแข็ง มีสีขาว ขนาดเล็ก เมื่อผลแก่แห้งเมล็ดจะไม่แตกกระจาย
• ตัวยาที่มีคุณภาพดี ดอกต้องละเอียด สีเหลืองแดงสด ไม่มีกิ่งก้าน คุณสมบัติเหนียวนุ่ม
การปลูก และขยายพันธุ์ดอกคำฝอย
ดอกคำฝอยเติบโตได้ดีในอากาศหนาวหรือแห้งแล้งตามลักษณะของสายพันธุ์ เติบโตได้ดีในดินร่วน ดินร่วนปนทราย ไม่มีน้ำขัง อายุการปลูกถึงเก็บเกี่ยว 120-200 วัน จึงนิยมปลูกในพื้นที่ภาคเหนือ การขยายพันธุ์จะใช้วิธีการเพาะเมล็ด ด้วยหว่านเมล็ดหรือเพาะชำในถุงเพาะชำก่อนนำปลูกลงหลุม ช่วงเวลาที่เหมาะสมแก่การเพาะปลูก คือ ช่วงต้นฤดูฝนจนถึงฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปจนถึงเดือนกันยายน แต่ถ้าหากพื้นที่ใดมีน้ำชลประทาน ก็สามารถปลูกได้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงกลางเดือนตุลาคม และควรเตรียมดินให้มีความชื้นที่เหมาะสม และเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของดอกคำฝอยด้วย
การปลูกคำฝอยมี 2 วิธีคือ
การปลูกแบบหว่าน ใช้เมล็ดในอัตรา 0.8-2.0 กิโลกรัมต่อไร่
การปลูกเป็นแถว ด้วยการหยอดเมล็ด ระยะระหว่างแถว 30-60 เซนติเมตร ใช้เมล็ด 3.0-3.5 กิโลกรัมต่อไร่
ระยะการเจริญเติบโต แบ่งออกเป็น 5 ระยะ
ระยะแรก หรือเรียกว่า ระยะพุ่มแจ้ (rosette stage) เป็นระยะเติบโตหลังจากการงอกของเมล็ดจนถึงช่วงที่ลำต้นยืดปล้อง ระยะนี้ต้นคำฝอยจะสร้างใบเป็นจำนวนมาก และซ้อนกันแน่นเป็นกลุ่ม (cluster) เป็นระยะที่ตอบสนองต่อสภาพอากาศอุณหภูมิต่ำ ซึ่งทำให้การเจริญเติบโตนานขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และสภาพแวดล้อมในการปลูก
ระยะที่ 2 เป็นระยะยืดตัวของลำต้น (elongation) หลังระยะพุ่มแจ้ ซึ่งความสูงลำต้นจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีอัตราการเติบโต 4.5 เซนติเมตร/วัน ในระยะนี้จึงต้องการน้ำ และธาตุอาหารอย่างเพียงพอ
ระยะที่ 3 เป็นระยะที่มีการสร้างตา (bud stage) โดยสร้างตาข้างที่มุมใบเจริญเป็นกิ่ง ซึ่งตายอดของลำต้นหลัก และของกิ่งแต่ละกิ่งจะพัฒนาเป็นตาดอกสำหรับสร้างช่อดอก ระยะนี้ต้นคำฝอยจะมีอายุประมาณ 40-50 วัน หลังเมล็ดงอก
ระยะที่ 4 ระยะดอกบาน (flowering stage) เป็นระยะที่ช่อดอกบาน 50 เปอร์เซ็นต์ จำนวนช่อดอกต่อต้น 3-100 ช่อดอก โดยที่มีการเจริญเติบโตแบบทอดยอด (indeterminate) ช่อดอกที่ลำต้นหลักจะบานก่อนช่อดอกที่กิ่งแขนงของการบานของดอกแรกจนถึงดอกสุดท้าย ประมาณ 17-40 วัน
ระยะที่ 5 ระยะเมล็ดสุกแก่ (seed maturation stage)เป็นระยะที่มีการผสมเกสรจนถึงเมล็ดสุกแก่ การสะสมน้ำหนักแห้งของเมล็ดเกิดขึ้นในระยะ 15 วัน หลังผสมเกสร และระยะการสะสมน้ำหนักแห้งสูงสุดที่ 28 วัน หลังผสมเกสร ระยะที่เมล็ดมีน้ำหนักแห้งสูงสุด ความชื้นในเมล็ดประมาณ 22-25 เปอร์เซ็นต์ เป็นที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำมัน และค่าไอโอดีนสูงสุด
ปริมาณกรดไขมัน
– กรดไขมันอิ่มตัว (SATURATED FATTY ACID) 9.15 %
– กรดปาล์มมิติก (PALMITIC ACID) 6.94 %
– กรดสเตียริก (STEARIC ACID) 2.21 %
– กรดไขมันไม่อิ่มตัว (UNSATURATED FATTY ACID) 90.39 %
– กรดโอลิอิก (OLEIC ACID) 14.48 %
– กรดไลโนลีอิก (LINOLEIC ACID) 75.91 %
การเก็บผลผลิตดอกคำฝอย
การเก็บเกี่ยวเมล็ดคำฝอยจะมีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 120-200 วัน ซึ่งสามารถเก็บได้ทั้งลำต้น ใบ ดอก และเมล็ด โดยเก็บเกี่ยวทั้งต้นหรือเฉพาะดอก และเมล็ดก็ได้
สำหรับเมล็ดที่เก็บเกี่ยวต้องมีลักษณะแห้ง และแข็ง เมื่อแกะเปลือกจะต้องมีเนื้อของเมล็ดอยู่เต็มหรือเกือบเต็ม สำหรับต้นที่แก่ และแห้งเกินไปจากสาเหตุการขาดน้ำหรือเก็บเมื่อเลยอายุการเก็บอาจทำให้มีลักษณะเมล็ดไม่เต็ม เมล็ดร่วงง่าย ดังนั้น ระยะเก็บเมล็ดที่เหมาะสมควรมีลักษณะต้นแห้ง ลำต้นสีน้ำตาล
องค์ประกอบทางเคมีของดอกคำฝอย
สารในกลุ่มฟลาโวนอยด์กลับโคไซด์ (Flavonid Glycoside) ได้แก่ คาร์ทามิน (cartramin) , ซาฟโฟลมิน (safflomin) , ซาฟฟลอร์เยลโล่ (safflor yellow) , ไฮดรอกซีซาฟฟลอร์เยลโล่ (hydroxysafflor yellow) , ทิงค์ทอร์มีน (cartormin) , ซาโปจีนิน (sapogenin) สารในกลุ่มฟลาโวน เช่นลูทีโอลิน (luteolin) และอนุพันธ์
Carthamin
Sarthamin
Luteolin
สรรพคุณดอกคำฝอย
ตามตำรายาไทย: ดอกคำฝอย ขับระดู บำรุงประสาท บำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต แก้ตกเลือด แก้ดีพิการ ขับเหงื่อ ระงับประสาท แก้ไข้ในเด็ก แก้ดีซ่าน แก้ไขข้ออักเสบ แก้หวัด น้ำมูกไหล แก้โรคฮิสทีเรีย อาการ รักษาอาการบวม รักษาท้องเป็นเถาดาน ใช้เป็นยาระบาย รักษาอาการไข้หลังคลอด ระงับอาการปวดในสตรีที่รอบเดือนมาไม่เป็นปกติ เป็นยาสามัญประจำบ้าน รักษาอาการป่วยไข้ในเด็ก บำรุงคนเป็นอัมพาต ดอกเป็นยาชงใช้ดื่มร้อนๆแก้ดีซ่าน โรคไขข้ออักเสบ เป็นหวัดน้ำมูกไหล ต้มอาบเวลาออกหัด รักษาอาการคันตามผิวหนัง เกสร บำรุงโลหิตระดู ขับระดู บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท บำรุงโลหิตและน้ำเหลืองให้ปกติ แก้ดีพิการ แก้แสบร้อนตามผิวหนัง
ตำรายาพื้นบ้านของหลายประเทศ: กล่าวว่าเนื่องจากดอกคำฝอยมีสีแดง จึงมีสรรพคุณบำบัดโรคที่เกี่ยวกับเลือด เช่น ระดู ขับเหงื่อ โดยทำเป็นยาชง ยาระบายพวกโลหิต
ต้านออกซิเดชั่น สารสกัดด้วยน้ำจากกลีบดอกคำฝอยมีคุณสมบัติในการต้านออกซิเดชั่น จับอนุมูลอิสระ และ สามารถปกป้องการทำลายส่วนต่างๆของร่างกายจากอนุมูลอิสระ ได้แก่
• ปกป้องสมองจากการทำลายของอนุมูลิอิสระ
• ปกป้องเซลล์สร้างเนื้อกระดูก
• ปกป้องเยื้อบุเซลล์เม็ดเลือดแดง
• ปกป้องตับ
เพิ่มประสิทธิภาพระบบการไหลเวียนของเลือด มีคุณสมบัติในการขยายหลอดเลือดแดง เพิ่มการไหลเวียนเลือด และการนำออกซิเจนเข้าสู่เนื้อเยื้อและยังสามารถยับยั้งการเกิดลิ่มเลือด รวมถึงละลายลิ่มเลือดได้อีกด้วย ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้สามารถมีส่วนช่วยในการลดความดันโลหิต รวมทั้งเป็นประโยชน์ในการป้องกันหรือรักษาโรคหัวใจ สารสีคาร์ทามินที่พบในดอกคำฝอย มีคุณสมบัติในการลดความข้นเหนียวของเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้นเป็นประโยชน์ในการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับเลือดคั่ง เช่น โรคหลอดเลือดสมองแตก
ต้านอักเสบ บรรเทาปวด สารสกัดด้วยน้ำจากกลีบดอกคำฝอยมีคุณสมบัติในการต้านอักเสบโดยยับยั้งการผลิตไนตริกออกไซด์และพรอสตาแกลนดินซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ พบคุณสมบัติต้านอักเสบในผู้ป่วยโรคหัวใจเฉียบพลัน นอกจากนี้ยังพบคุณสมบัติในการบรรเทาปวดซึ่งสามารถนำไปพัฒนาสารที่ใช้ในการลดอาการปวดเพื่อทดแทนมอร์ฟีน หรือยาแก้ปวดอื่นๆ ที่มีผลข้างเคียงต่างๆ
ลดคอลเลสเตอรอล ลดระดับคอลเลสเตอรอลรวม และเพิ่มระดับคอลเลสเตอรรอลชนิดดี
ลดระดับน้ำตาลในเลือด สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์และน้ำจากดอกคำฝอยมีคุณสมบัติในการลดระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการนำไปรักษาโรคเบาหวาน
มีคุณสมบัติของเอสโตรเจนที่ได้จากพืช(phytoestrogen) ดอกคำฝอยมีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงนิยมใช้ในการรักษาโรคที่เกี่ยวกับผู้หญิง เช่น ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือใช้ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
คุณค่าด้านอาหาร ในเมล็ดคำฝอย มีน้ำมันมาก สารในดอกคำฝอย พบว่าแก้อาการอักเสบ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อบางตัวได้ ในประเทศจีน ดอกคำฝอย เป็นยาเกี่ยวกับสตรี ตำรับยาที่ใช้รักษาสตรีที่ประจำเดือนคั่งค้างไม่เป็นปกติ หรืออาการปวดบวม ฟกช้ำดำเขียว มักจะใช้ดอกคำฝอยด้วยเสมอ โดยต้มน้ำแช่เหล้า หรือใช้วิธีตำพอก ใช้ดอกคำฝอยแก่ มาชงน้ำร้อน กรอง จะได้น้ำสีเหลืองส้ม (สาร safflower yellow) ใช้แต่งสีอาหารที่ต้องการให้เป็นสีเหลือง
ประโยชน์ในด้านอื่นๆของดอกคำฝอย
ตากแห้งสำหรับชงน้ำร้อนดื่มแทนชา หรือ ต้มผสมน้ำตาลเล็กน้อย ให้กลิ่นหอม
ตากให้แห้ง และบด เพื่อสกัดเป็นสีย้อมผ้าที่ได้จากสีเหลืองของสารคาร์ทามีดีน (carthamidine)สีแดงสารคาร์ทามีน (carthamine) สามารถย้อมติดได้ดีในเส้นใยฝ้ายหรือเส้นใยจากพืช
ใช้ผสมอาหาร อาทิ ผสมเนยแข็ง และปรุงอาหาร เป็นต้น
น้ำมันจากเมล็ดดอกคำฝอย และกลีบดอกสามารถนำมารับประทาน บำรุงเส้นผม บำรุงผิว เสริมสุขภาพ
ใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์เลี้ยง
ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม
น้ำมันคำฝอยใช้เป็นวัตถุดิบผลิต Alkyd resins สำหรับเป็นสารตั้งต้นในการผลิตสี และกาวเหนียว
ใช้เป็นน้ำมันหล่อลื่นในกระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมทอผ้า เป็นต้น
ใช้เป็นน้ำมันเคลือบผิววัสดุให้มีความมันเงา ป้องกันสนิม เช่น งานไม้ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ในอินเดียใช้เคลือบรักษาคุณภาพหนังสัตว์ เสื้อผ้าผลิตภัณฑ์เครื่องทอป้องกันการเปียก
กากของเมล็ด ใบ ลำต้นแห้ง ใช้หมักผสมกับมูลสัตว์เป็นปุ๋ยคอกหรือทำเป็นปุ๋ยพืชสด
ในประเทศจีนนิยมใช้น้ำมันจากเมล็ดหรือกลีบดอกคำฝอยสำหรับประกอบอาหาร เพราะสามารถให้กรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง มากกว่า 90% และให้ชื่อน้ำมันคำฝอยว่า king of the linoleic acid เพราะประกอบด้วยกรดไขมันลิโนเลอิกมากถึง 80% ที่มีบทบาทสำคัญต่อการลดการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจแข็ง (arteriosclerosis) และลดคลอเรสเตอรอล และไขมันไตรกลีเซอไรด์
รูปแบบขนาดวิธีการใช้ดอกคำฝอย
การแพทย์แผนจีน ใช้ 3-9 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม
ลดไขมันในเส้นเลือด ป้องกันไขมันอุดตันในเส้นเลือด ใช้ดอกคำฝอยแห้งประมาณ 2 หยิบมือ (2.5 กรัม) นำมาชงกับน้ำร้อนครึ่งถ้วยแล้วใช้ดื่ม
ลดความอ้วน ใช้ดอกคำฝอยประมาณ 5 กรัม นำมาชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว
รักษาตาปลา ใช้ดอกคำฝอยสดและตี้กู่ฝีในปริมาณที่เท่ากัน นำมาตำผสมรวมกัน แล้วใช้ปิดบริเวณที่เป็นตาปลา โดยเปลี่ยนยาวันละ 2 ครั้ง
ป้องกันแผลกดทับ ใช้ดอกคำฝอยประมาณ 3 กรัมนำมาแช่กับน้ำพอประมาณจนน้ำเป็นสีแดง แล้วนำมาถูบริเวณที่กดทับ โดยถูครั้งละ 10 – 15 นาที หากทำอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยป้องกันแผลกดทับได้ถึง 100% โดยไม่มีผลข้างเคียง
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของคำฝอย
ดอกคําฝอย เป็นยาบํารุงโลหิต บํารุงประสาท แก้โรคผิวหนัง ลดไขมันใน เส้นเลือด และ ช่วยป้องกันไขมันอุดตัน
น้ำมันของดอกคําฝอยมี ส่วนประกอบของกรดไลโนเลอิก ซึ่งเป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวใน ประมาณสูง (ประมาณร้อยละ 75) จึงเชื่อว่าจะทําให้ประมาณโคเลสเตอรอล ในเลือดต่ำลง และจากผลการวิจัยในสัตว์ทดลองและในคน พบว่า เมล็ด น้ำมันดอกคําฝอยช่วยทําให้ปริมาณโคเลสเตอรอลในเลือดลดลงได้จริง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะกรดไลโนเลอิกจะไปทําปฏิกิริยากับโคเลสเตอรอลในเลือด ได้เป็นโคเลสเตอรอลไลโนเลเอท (choloesterol linoleate) และยังมีรายงานว่า น้ำมันดอกคําฝอยทําให้ ฤทธิ์ของเอนไซม์ ที่ใช้ใน การสังเคราะห์กรดไขมันลดลงอีกด้วย จากผลการวิจัยในสัตว์ทดลองและในคนพบว่า น้ำมันดอกคําฝอยจะช่วยให้ การอุดตันของไขมันในหลอดเลือดลดลง และช่วยป้องกันการอุดตันของ ไขมันในเลือดได้ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากน้ำมันดอกคําฝอยมีฤทธิ์ลดการจับตัวของเกล็ดเลือด
– Kim และคณะ ได้ศึกษาสารสกัดเมล็ดคำฝอยในประเทศเกาหลี (Carthamus tinctorious L.) ต่อการเสริมสร้างกระดูกในหนูทดลอง พบว่า ผลของการใช้สารสกัดจากดอกคำฝอยสามารถเสริมสร้างกระดูก ด้วยการกระตุ้นกระบวนการสร้าง และซ่อมแซมกระดูกในหนูทดลองได้
– Moon และคณะ ได้ศึกษาการใช้สารสกัดเมล็ดคำฝอยต่อปริมาณคอเลสเทอรอลในหนูทดลองพบว่า การให้สารสกัดเมล็ดคำฝอยที่สกัดด้วยน้ำ และเอธานอล ในช่วง 5 สัปดาห์ สามารถลดระดับคอเลสเทอรอล และไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) ในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม
– Rallidis และคณะ ได้ทดลองให้อาหารที่ผสม alpha linolenic acid (ALA, 18:3n-3) จากน้ำมันลินสีด (linseed oil) และ linoleic acid (LA, 18:2n-6) จากน้ำมันเมล็ดคำฝอยแก่ผู้ป่วย dyslipidaemic patients พบว่า อาหารที่ผสม ALA จากน้ำมันลินสีดสามารถลด C-reactive protein (CRP), interleukin-6 (IL-6) และ serum amyloid A (SAA) อย่างมีนัยสำคัญ ส่วนอาหารที่ผสม LA จากน้ำมันเมล็ดคำฝอยไม่มีผลต่อความเข้มข้น CRP, IL-6 และSAA แต่สามารถลดระดับคอเลสเทอรอลได้
– Koji และคณะ ได้ศึกษาผลของ conjugated linoleic acid (CLA) จากน้ำมันคำฝอยต่อเมทาบอลิซึม (metabolism) ในหนูทดลองด้วยอาหารที่มีน้ำมันคำฝอยร้อยละ 9 ผสมกับร้อยละ 1 ของ CLA เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่า ปริมาณไตรเอซิลกลีเซอรอล (triacylglycerol) ในเลือด และตับของหนูทดลองในกลุ่มที่ได้รับ CLA ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม โดย CLA ช่วยเพิ่มอัตราการใช้ออกซิเจน และการใช้พลังงาน ส่วนการทดลองที่ 2 ที่ให้อาหารร้อยละ 9 ของน้ำมันคำฝอยผสมกับร้อยละ 1 ของ 9c,11t-CLA-rich oil หรือ 10t,12c-CLA และอาหารร้อยละ 9 น้ำมันดอกคำฝอยผสมกับร้อยละ 1 ของ 10t,12c-CLA-rich oil พบว่า ปริมาณไตรเอซิลกลีเซอรอลในเลือด และตับของหนูทดลองในกลุ่มที่ได้รับ 10t,12c-CLA ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับ 9c,11t-CLA
– Nishizono และคณะ ได้ศึกษาการสะสม triacylglycerols ในลำไส้หนูทดลองด้วยการเก็บอุจจาระหนูทดลองก่อน และหลังการให้อาหาร AIN-76 ที่ผสมน้ำมันดอกคำฝอยร้อยละ 5 ที่เลี้ยงประมาณ 4 เป็นเวลา 1, 3, และ 6 เดือน พบว่า อัตราการดูดซึมไขมันของหนูทดลองดีขึ้นร้อยละ 95
– มีรายงานทางคลินิก พบว่า สารสกัดจากดอกคำฝอย มีคุณสมบัติคล้ายกับฮอร์โมนเพศหญิง มีฤทธิ์กระตุ้นมดลูก และฮอร์โมนเพศหญิง ช่วยทำให้มดลูก และกล้ามเนื้อเรียบหดตัวได้ แต่ถ้าหากใช้ในปริมาณมากจนเกินไป อาจจะทำให้มดลูกเป็นตะคริวได้
– ค.ศ. 1976 ประเทศอเมริกา ได้ทำการทดลองในผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง (ชาย 122 คนและหญิง 19 คน) ด้วยการให้รับประทานน้ำมันดอกจากดอกคำฝอยทุกวันเป็นเวลา 3 สัปดาห์ (วันละ 57 กรัม) ผลการทดลองพบว่า น้ำมันจากดอกคำฝอย สามารถช่วยลดระดับความดันโลหิตและระดับไขมันหรือคอเลสเตอรอลได้ และยังมีผลการสร้าง Prostaglandin ที่เป็นผลให้ High Density Lipoprotein เพิ่มขึ้น
– ค.ศ. 1989 ประเทศอังกฤษ ได้ทำการทดลองน้ำมันดอกคำฝอยในผู้ป่วยที่เป็นความดันโลหิตสูงชนิด Mild hypertension โดยให้รับประทานน้ำมันจากดอกฝอยทุกวันเป็นเวลา 4 สัปดาห์ (วันละ 5.9 กรัม) ผลการทดลองพบว่า ค่าความดัน Systolic ลดลงมา 6.5 mm.Hg และค่าความดัน Diastolic ลดลงมา 4.4 mm. จึงสรุปได้ว่าน้ำมันดอกคำฝอยมีผลในการช่วยลดความดันโลหิตได้จริง
– การศึกษาฤทธิ์กระตุ้นการงอกของผมของสารสกัด 50% เอทานอลจากดอกคำฝอยซึ่งอุดมไปด้วยสาร hydroxysafflor yellow A ในเซลล์ dermal papilla และ human keratinocytes (HaCaT) พบว่าสารสกัด ความเข้มข้น 0.005-1.25 มก./มล. จะกระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเซลล์ทั้งสองชนิดได้ 166.02 ± 4.89% และ 114.83 ± 6.83% ตามลำดับ สารสกัดที่ความเข้มข้น 0.25-1.00 มก./มล. มีฤทธิ์เพิ่มการแสดงออกของ vascular endothelial growth factor mRNA และ keratinocyte growth factor mRNA ซึ่งเกี่ยวข้องกับการงอกของผม และลดการแสดงออกของ transforming growth factor-β1 mRNA ซึ่งเกี่ยวข้องกับการหลุดร่วงของผม สารสกัดดอกคำฝอย ความเข้มข้น 50-200 มคก./มล. ยังมีผลเพิ่มความยาวของเซลล์รากผม (hair follicles) ของหนูเม้าส์ได้เทียบเท่ากับยา minoxidil (50 มคก./มล.) และเมื่อทาสารสกัด ขนาด 0.05, 0.1 และ 0.5 มก./มล. ลงบนผิวหนังที่ถูกโกนขนของหนูเม้าส์ เป็นเวลา 15 วัน พบว่าความเข้มข้น 0.1 มก./มล. สารสกัดสามารถกระตุ้นการงอกของเส้นขนของหนูได้เทียบเท่ากับยา minoxidil ที่ความเข้มข้นเดียวกันและไม่ทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพของเส้นขน สรุปว่าสารสกัดจากดอกคำฝอยมีศักยภาพในการที่จะนำมาใช้เป็นสารกระตุ้นการงอกของผมได้
การศึกษาทางพิษวิทยาของดอกคำฝอย
จากการศึกษาพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักรของสารสกัด 50% แอลกอฮอล์จากดอกคำฝอยพบว่าค่า LD50 มีค่ามากกว่า 10 กรัม/กิโลกรัม เมื่อให้โดยการป้อนหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และไม่พบการก่อให้เกิดการกลายพันธุ์
ข้อแนะนำ / ข้อควรระวัง
1. แม้ว่าคำฝอยจะมีสรรพคุณที่หลากหลาย แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อระบบเลือดได้หากไม่รู้จักใช้ให้ถูกวิธี ซึ่งแพทย์แผนจีนมักจะใช้ดอกคำฝอยร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นอยู่เสมอ จะไม่ใช้เป็นยาเดี่ยว ใช้ในปริมาณที่เหมาะสม และไม่ควรใช้ในระยะยาว
2. การรับประทานอย่างต่อเนื่องหรือในปริมาณที่มากเกินไป อาจจะส่งผลทำให้โลหิตจางได้ มีผลทำให้มีเลือดน้อยลง มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย มีอาการวิงเวียนศีรษะ หรือกลายเป็นคนขี้โรคโดยไม่รู้ตัว
3. การรับประทานในปริมาณมากจนเกินไปอาจจะทำให้มีประจำเดือนมากกว่าปกติ และอาจทำให้มีอาการมึนงง หรือมีผดผื่นคันขึ้นตามตัวได้
4. สำหรับสตรีมีครรภ์ไม่ควรบริโภคสมุนไพรดอกคำฝอย เนื่องจากสมุนไพรชนิดนี้มีฤทธิ์เป็นยาบำรุงเลือดและช่วยขับประจำเดือน หากรับประทานหรือรับประทานในปริมาณมากๆ ก็อาจจะทำให้แท้งบุตรได้
เอกสารอ้างอิง
1. The State Pharmacopoeia Commission of P.R. China. Pharmacopoeia of the People’s Republic of China. Vol.I. English Edition. Beijing: People’s Medical Publishing House, 2005.
2. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์, ก่องกานดา ชยามฤต, ธีรวัฒน์ บุญทวีคุณ (คณะบรรณาธิการ). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544). สำนักวิชาการป่าไม้. กรมป่าไม้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ประชาชน จำกัด, 2544.
3. Mei XH. Shiyong Zhongyao Paozhi Zhinan. 1st ed. Hubei: Hubei Science & Technology Publishing House, 2005.
4. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. คัมภีร์เภสัชรัตนโกสินทร์. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ศิลป์สยามบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ จำกัด, 2547.
5. มงคล โมกขะสมิต, กมล สวัสดีมงคล, ประยุทธ สาตราวาหะ. การศึกษาพิษของสมุนไพรไทย. ใน: ปราณี ชวลิตธำรง, ทรงพล ชีวะพัฒน์, เอมมนัส อัตตวิชญ์ (คณะบรรณาธิการ). ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยาของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์การศาสนา, 2546.
6. ดอกคำฝอย.พืชเกษตร.คอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://puechkaset.com
7. Ekin , Z. (2005). Resurgence of safflower (Carthamus tinctorius L.) utilization: a global view. Journal of Agronomy , 4(2) , 83-87.
8. Yoon , H. R., Han , H. G., & Paik , Y.S. (2007). Flavonoid glycosides with antioxidant activity from the petals of Carthamus tinctorius. Carbon, 1(2), 3.
9. Asgarpanah, J., & Kazemivash, N. (2013). Phytochemistry , pharmacology and medicnal properties of Carthamus tinctorius L. Chinese journal of integrative medicine , 19(2), 153-159.
10. Yaginuma, S., & lgarashi, K. (1999). Protective effects of hot water extracts from rats. Food Science and Technology Research, 5(2), 164-167.
11. กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, (2551).ดอกคำฝอย ในคู่มือการใช้สมุนไพรไทย-จีน (เย็นจิตร เตชะดำรงสิน, บรรณาธิการ) หน้า 101-103. กรุงเทพฯ: สำนักงานกิจการโรงพิม องค์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์
12. มงคล โมกขะสมิต, กมล สวัสดีมงคล, ประยุทธ สาตราวาหะ.การศึกษาพิษของสมุนไพรไทย. ใน: ปราณี ชวลิตธำรง, ทรงพล ชียวะพัฒน์, เอมมนัส อัตตวิชญ์ (คณะบรรณาธิการ).ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยาของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1 พิมพ์ครั้งที่ 1 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์การศาสนา, 2546
13. Emongor , V. (2010). Safflower (Cathamus tinctorius L.)the underutilized and neglected crop: A review. Asian J. Plant Sci, 9, 299-306.
14. วุฒิ วุฒิธรรมเวช . หนังสือร่วมอนุรักษ์มรดกไทย สารานุกรมสมุนไพรไทย
15. คำฝอย.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://thaicrudedruy.com/maim.php?action=viewpage&pid=42
16. คำฝอย กลุ่มยาลดไขมันในเส้นเลือด.สรรพคุณสมุนไพรแบ่งตามกลุ่มอาการ.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบริมราชกุมารี.(ออนไลน์เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_01_1.htm
17. สมุนไพร: ยาไทยที่ควรรู้. Bangkok: Amarin Printing and Publishing Plc., 1999.
18. Tiengbooranatham, Vit Dictionary of Thai Medicinal Plants, 4th ed. Bangkok: Suriyabarn Publishing, 1996
19. ฤทธิ์ของสารสกัดดอกคำฝอย ในการกระตุ้นการงอกของผม. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น