วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เจียวกู่หลาน

เจียวกู่หลาน สรรพคุณและงานวิจัย


ชื่อสมุนไพร เจียวกู่หลาน
ชื่ออื่นๆ ชื่อท้องถิ่น ปัญจขันธ์ (ไทย) เจียวกู่หลาน (จีนกลาง) ชาสตูล (ไทย) อะมาซูรู (ญี่ปุ่น)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Gynostemmar pentaphylum Makinoคั
ชื่อภาษาอังกฤษ Miracle grass, Southen ginseng, Xiancao,
ชื่อสามัญ Sweet tea vine
วงศ์ Cucurbitaceae



ถิ่นกำเนิด

เจียวกู่หลานมีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย ในบริเวณที่มีภูมิประเทศเป็นป่าเขาที่มีความสูงระดับ 3 เป็นป่าเขาที่มีความสูงระดับ 300 – 3200 เมตร จากระดับน้ำทะเล ทางภาคตะวันออกของประเทศจีน และมีการปลูกเจียวกู่หลานกระจายไปยังประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบตามธรรมชาติที่ดอยอินทนนท์ และมีการนำมาปลูกทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกเป็นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ชัยภูมิ จันทบุรีและนครราชสีมา
ลักษณะทั่วไป แบ่งได้เป็น 2 สายพันธุ์ คือ
1. เจียวกู่หลานป่าเป็นพืชที่ขึ้นตามธรรมชาติ รสชาติที่ได้จะมีรสขม
2. เจียวกู่หลานบ้าน คือ ปลูกตามแหล่งปลูกทั่วไป รสชาติจะมีรสขมปนหวาน



ต้นเจียวกู่หลาน

เจียวกู่หลานจัดอยู่พรรณไม้ล้มลุกตระกูลหญ้าแบบเถาเลื้อย ยาว ประมาณ 1 – 150 เซนติเมตร มีรากอยู่ใต้ดินเป็นรากเลื้อย เส้นเล็ก ยาวประมาณ 50 – 100 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของรากประมาณ 1 เซนติเมตร ลำต้นเป็นข้อๆ มีมือเกาะตามข้อ มีขนบางๆ เล็กน้อย เลื้อยไปตามพื้นหรือเลื้อยพันกับพืชชนิดอื่นๆ




ใบเจียวกู่หลาน

ใบออกเรียงสลับ มักเรียบแบบขนนก กิ่งหนึ่งมีใบประมาณ 3 – 7 ใบ ลักษณะของใบเจียวกู่หลานเป็นรูปกลมรีหรือรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบกลม ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยเล็กน้อย ตรงกลางของใบยาวได้ประมาณ 4 - 8 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 2 - 3 เซนติเมตร เส้นใบล่างมีขนสั้นปกคลุม ใบ 2 ข้าง มักเรียงคู่กันเล็กกว่าใบตรงกลาง



ดอกเจียวกู่หลาน

ออกดอกเป็นกระจุกมีสีเหลืองเขียว โดยจะออกตามซอกใบ ดอกเจียวกู่หลานเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน กลีบดอกเป็นเส้น ปลายแหลมยาว ได้ประมาณ 1 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน มีเกสรเพศเมีย 3 อัน




ผลเจียวกู่หลาน

ลักษณะของผลเจียวกู่หลานเป็นรูปทรงกลม ผลอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนผลแก่เป็นสีเขียวออกดำ ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6 – 8 มิลลิเมตร ในผลมีเมล็ด ลักษณะเป็นรูปกลมรี ยาวได้ประมาณ 4 มิลลิเมตร เมล็ดจะเป็นเส้นย่น



การขยายพันธุ์เจียวกู่หลาน

พันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้า
1. พันธุ์อ่างขาง เป็นพันธุ์ที่ปลูกและขยายพันธุ์โดยมูลนิธิโครงการหลวงอ่างขาง
2. พันธุ์จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยภาคเอกชนนำเจียวกู่หลานมาปลูกขยายพันธุ์และจำหน่าย



การเตรียมพันธุ์เจียวกู่หลาน

1. การเพาะเมล็ดเจียวกู่หลาน ใช้วัสดุเพาะเป็นทรายละเอียด โดยหว่านเมล็ดในแปลงเพาะ จากนั้น 8 – 14 วัน เมล็ดจะเริ่มงอก ทำการย้ายกล้าเมื่อมีใบจริง 2 – 3 ใบ ควรเพาะเมล็ดในช่วงอากาศเย็น แต่ไม่ควรเพาะเมล็ดในช่วงฝนตกชุก หรือหยอดเมล็ด 2 – 3 ใบ ลงในหลุมปลูกโดยตรง
2. การปักชำ ใช้เถาที่เจริญเติบโตเต็มที่ ไม่อ่อนหรือไม่แก่เกินไป ตัดเป็นท่อนๆ ให้มี 3 – 4 ข้อ ริดใบที่อยู่ 2 ข้อล่างออก ปักลงดินให้ลึก 1 – 2 ข้อ โดยปักให้เอียงเล็กน้อย ทำมุมประมาณ 45 องศา เอนส่วนปลายไปทางทิศตะวันตก เมื่อรากงอกและยอดยางประมาณ 10 – 15 เซนติเมตร ให้ย้ายลงแปลงปลูก โดยรากจะงอกประมาณ 7 วันหลังปักชำ
3. การขยายพันธุ์เจียวกู่หลานโดยใช้ลำต้นใต้ดิน โดยขุดลำต้นใต้ดินขึ้นมา ตัดเป็นท่อนๆ ขนาด 5 เซนติเมตร ในแต่ละท่อนมี 1 – 2 ข้อ ขุดหลุมเป็นแนว ใช้ 1 ท่อนพันธุ์ต่อหลุม
4. การเก็บเมล็ดพันธุ์ โดยเก็บเกี่ยวผลแก่จัดที่มีลักษณะสมบูรณ์ ประมาณปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนพฤศจิกายน นำไปทำให้แห้ง เอาเปลือกออก เก็บเมล็ดในที่เย็น แห้ง อากาศถ่ายเทได้ดี



สภาพพื้นที่ปลูกเจียวกู่หลาน

เจียวกู่หลานเจริญเติบโตได้ทั้งบนเขาและที่ราบ ในระดับความสูงจากน้ำทะเล 300 – 3200 เมตร
• สภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม อุณหภูมิ 16 – 28 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพันธ์ที่เหมาะสมมากกว่าร้อยละ 80
• ลักษณะดิน ควรเป็นดินร่วนปนทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนหรือด่างอ่อน มีการระบายน้ำได้ดี ความชื้นในดินไม่สูงเกินไป แต่หน้าดินต้องสามารถอุ้มน้ำได้ดี
• ความต้องการแสง ขอบที่ร่ม อากาศชื้น ไม่ทนความแห้งแล้ง มีปริมาณแสงร้อยละ 40 – 60



องค์ประกอบทางเคมีของเจียวกู่หลาน

Gypenoside Flavonoids ส่วนประกอบอื่นๆ ที่พบได้เช่นเดียวกับที่พบในโสม 6 ชนิด และคล้ายกันกับที่พบในโสมอีกหลายชนิด เช่น Glycoside, Saponin เป็นต้น แร่ธาตุต่างๆ เช่น ซีลีเนียม แมงกานีส ทองแดง เจอมาเนียม เหล็ก แมกนีเซียม โซเดียม โพแทสเซียม ซิงค์ แคลเซียม กรดอะมิโน เช่น Arginine, Cystine, Flycine, Lysine, Phenylanine เป็นต้น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน



โครงสร้าง Arginin ที่มา : en.wikipedia.org/wiki





โครงสร้าง Gypenosides ที่มา : en.wikipedia.org/wiki





โครงสร้าง Glycoside ที่มา : en.wikipedia.org/wiki



สรรพคุณเจียวกู่หลาน

สรรพคุณยาจีน แพทย์แผนจีนใช้ส่วนเหนือดินหรือใบเจียวกู่หลานป็นยาแก้อักเสบ แก้ไอ ขับเสมหะ และแก้หลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง ชาชงเจียวกู่หลานใช้บำรุงร่างกาย แก้อาการอ่อนเพลีย ช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยให้นอนหลับ และเสริมภูมิคุ้มกัน จีนตอนใต้แถบยูนานไปจนถึงไต้หวันรู้จักเจียวกู่หลานมาเนิ่นนาน โดยถือเป็นยาอายุวัฒนะ
สรรพคุณยาไทย ยาพื้นบ้านของขาวเขาเผ่ามูเซอ ใช้ทั้งต้นเป็นยาพอกรักษาแผล รักษากระดูกและอาการปวดกระดูก ปวดในข้อมือ ข้อเท้า และอาการฟกช้ำดำเขียว ชาวเขาพวกจีนฮ่อใช้ใบกิ่งและลำต้นมาคั่วทำเป็นชาสำหรับดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง ยาพื้นบ้านของชาวเขาเผ่าลาฮู (lahu) ใช้ทั้งต้นเป็นยาพอกรักษาแผล รักษาอาการกระดูกและอาการปวดกระดูก มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง. ต้านอักเสบ ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร



คุณประโยชน์ของเจียวกู่หลาน

 ช่วยลดโคเลสเตอรรอลชนิด LDL และรักษาสมดุลในการเกิดของไขมัน HDL จึงลดสาเหตุที่ทำให้เกิดการอุดตันที่หลอดเลือดหัวใจ ลดความเสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลัน ช่วยทำให้เกิดกระบวนการเผาผลาญไขมันได้ดี จึงลดไขมัน ไม่ให้สะสมตามผนังหลอดเลือด เนื่องจากในตัวของเจียวกู่หลานมีใยธรรมชาติที่สามารถจะดูดซับไขมันแล้วขับถ่ายออกไปจากร่างกายได้
 ช่วยปรับความสมดุลของระบบความดันโลหิต เช่น ช่วยปรับการทำงานของหัวใจในสภาวะเกิดระดับความดันโลหิตต่ำ และช่วยการขยายตัวของหลอดเลือด เช่น ช่วยปรับการทำงานของหัวใจในสภาวะเกิดระดับความดันโบหิตต่ำ และช่วยการขยายตัวของหลอดเลือดเมื่อร่างการมีความดันโลหิตสูง ช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ของการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ และการเต้นของหัวใจ รวมทั้งป้องกันการเกิดภาวะอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองได้
 ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ โดยไปกระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งสารอินซูลิน และยังยั้งการดูดซึมกลูโคสในทางเดินอาหาร
 ช่วยชะลอความเสื่อมโทรมของเซลล์ในร่างกาย เนื่องจากมี Flavonoids, Glycoside ที่มีคุณสมบัติในการต้านการเกิดอนุมูลอิสระ
 ช่วยต้านการอักเสบ แก้ปวด ปวดศีรษะไมเกรน ขับเสมหะ แก้ไอ
 ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกัน และลดอาการแพ้
 รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
 ยับยั้งการเติบโตของเนื้องอกและมะเร็ง
 ช่วยการทำงานของระบบกล้ามเนื้อหัวใจและระบบการไหลเวียนของโลหิต
 เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเซลล์ เสริมสร้างเซลล์ไขกระดูกและเม็ดเลือดขาว
 ช่วยลดอาการผมหงอก ผมร่วง
 ช่วยเพิ่มปริมาณเชื้ออสุจิ
 มีการวิจัยและศึกษาจากสถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เจียวกู่หลานว่ามีฤทธิ์ยับยั้ง gnzyme HIV protease ทำให้เชื้อไวรัส HIV ไม่เพิ่มจำนวนขึ้น
 มีฤทธิ์ในการลดภาวการณ์เกิดพิษเรื้อรังที่ตับ และลดการเกิด fibrosis โดยพบว่า Gypenoside ในเจียวกู่หลานจะลดการเพิ่มขึ้นของ SGOT และ SGPT ได้สามารถป้องกัน biomembrane จากการเกิด oxidationinjury ได้
 ช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพต่อการสั่งงานของสมอง ช่วยลดปัญหาความจำเสื่อมได้
 ช่วยในการบำรุงสายตา
 มีสารช่วยบำรุงร่างกาย



รูปแบบขนาดวิธีการใช้เจียวกู่หลาน

รูปแบบการใช้นั้น สามารถใช้ได้ตามตำรับยาต่างๆ ได้ และในปัจจุบันมีการสกัดสารและทำในรูปแบบยาแผนปัจจุบันและชาชงกันอย่างแพร่หลาย และมีขนาดการใช้แตกต่างกันไปในแต่ละบริษัท ขนาดที่ใช้เป็นยาอายุวัฒนะชะลอความแก่ ให้ใช้ยาแห้งบดเป็นผงใส่ในแคปซูล ให้รับประทานครั้งละไม่เกิน 3 กรัม ตามตำรับยาไทยโบราณ ใช้เข้ากับตำรายาตามต้องการ



ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของเจียวกู่หลาน

• Dr Osama Tanaka แห่งคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮิโรชิมา ได้ทำการศึกษาจนพบว่า เจียวกู่หลานมีสาร Saponins ที่มีโครงสร้างโมเลกุลเหมือนกับโสม ต่อมา Dr Tsunematsu Takemoto ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรที่ศึกษาประโยชน์ของเจียวกู่หลานมากกว่า 10 ปี ได้พบว่าเจียวกู่หลานมีสาร Saponins อยู่มากถึง 82 ชนิด หรือที่เรียกว่า Gypenosides และเจียวกู่หลานยังเป็นสมุนไพรที่ใช้เป็นยาได้เหมือนกับโสมแต่ดีกว่าโสม เนื่องจากโสมมีสาร Saponins ที่เรียกว่า Gypenosides อยู่เพียง 28 ชนิด ในขณะที่เจียวกู่หลานนั้นมี Gypenosides อยู่ถึง 82 ชนิด และสาร Gypenosides ที่พบในเจียวกู่หลานจะมีอยู่ 4 ชนิดที่เหมือนกับโสม และมีอีก 17 ชนิด ที่มีลักษณะคล้ายกับโสม นอกจากนี้ปริมาณของGypenosides ที่มีอยู่ในเจียวกู่หลานก็ยังมีมากกว่าและมีคุณสมบัติทางยาที่ดีกว่า Gypenosides
ที่พบได้ในโสม อีกทั้งเจียวกู่หลานยังไม่มีพิษและไม่มีอาการแพ้ที่เกิดขึ้นจากการบริโภคอีกด้วย
• LIM และคณะ ได้ทำการทดลองนำเจียวกู่หลานแห้งไปสกัดด้วยน้ำ จากนั้นนำไปทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูขาวทดลอง พบว่าสามารถต้านการอักเสบลดอาการบวมของอุ้งเท้าหนูได้
• การให้สารสกัดด้วยน้ำจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นเจียวกู่หลาน ในขนาด 1 กรัม ต่อกิโลกรัม (คิดตามน้ำหนักของเจียวกู่หลานที่นำมาสกัด) แก่หนูขาวทดลองโดยการฉีดเข้าทางช่องท้อง พบว่าสามารถป้องกันตับจากการเกิดสารพิษจาก CCI และยังมีรายงานว่า Gypenosides มีฤทธิ์ในการรักษาภาวะ การเกิดพิษเรื้อรังที่ตับ ซึ่งถูกเหนี่ยวนำด้วย CCI4 และลดการเกิด Fibrosis ด้วย โดยพบว่า Gypenosides จะลดการเพิ่มของ SGOT, SGPT activities ในหนูขาว ซึ่งตับถูกทำลายด้วย CCI4 เป็นเวลานานถึง 8 สัปดาห์ และยังทำให้ปริมาณของคอลลาเจนลดลง 33%



การศึกษาทางพิษวิทยาของเจียวกู่หลาน

ความเป็นพิษได้ทำการทดสอบความเป็นพิษกับหนูขาว โดยให้กินสารสกัดปัญจขันธ์ในขนาด 6, 30 , 150 และ 750 มก./กก./วัน นาน 6 เดือน ไม่พบอาการผิดปกติใดๆ ค่าชีวเคมีในเลือดปกติ อวัยวะภายในเป็นปกติ ไม่พบพิษหรือผลข้างเคียงใดๆ และมีการทดสอบความเป็นพิษกับคน โดยรับประทานสารสกัดปัญจขันธ์แคปซูลประกอบด้วยสาร Gypenoside 40 มก./แคปซูล ครั้งละ 2 เม็ดหลังอาหารเช้า – เย็น ติดต่อกันนาน 2 เดือน พบว่า ไม่พบอาการผิดปกติใดๆ ในอาสาสมัคร ดังนั้น การศึกษาความเป็นพิษของปัญจขันธ์ สามารถสรุปได้ว่าค่อนช้างผลอดภัย เพราะไม่พบสารพิษและอาการข้างเคียง แต่อย่างไรก็ตามควรมีการศึกษาทางคลินิกเพิ่มเติม



ข้อควรแนะนำ ข้อควรระวัง

จากจดหมายข่าวผลิใบของกรมวิชาการเกษตร ได้เขียนถึงการดื่มชาเจียวกู่หลานไว้ว่า ห้ามดื่มติดต่อกันเกิน 7 วัน เมื่อดื่มครบ 7 วันแล้ว ก็ให้หยุดดื่มประมาณ 1 – 2 วัน แล้วค่อยเริ่มต้นดื่มใหม่ และถ้าหากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดศีรษะ มึนงง ตาพร่าลาย ก็ให้หยุดดื่มเช่นกัน ส่วนขนาดที่รับประทานนั้นให้ดูที่ฉลาก และสามารถชงซ้ำได้ 1 – 2 รอบ ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ใส่ลงไปหรือจนกว่าน้ำชาและเจือจางลง เมื่อใช้เสร็จแล้วก็อย่าลืมปิดซองให้สนิท หรือจะใส่ในภาชนะอื่นที่เป็นภาชนะสุญญากาศก็ได้ (ห้ามเก็บในตู้เย็น เพราะในชาอาจขึ้นราได้) สตรีมีครรภ์ควรงดทาน 1 เดือน ก่อนคลอด และ ให้นมบุตร ผู้ที่ฟอกไต คนผอมแห้งไม่ควรดื่มชาเจียวกู่หลาน



เอกสารอ้างอิง

1. ภก.ประวิทย์ ตันติสุวิทย์กุล.สมุนไพรน่ารู้ เจียวกู่หลาน.คอลัมน์ การส่งเสริมสุขภาพวารสารเภสัชกรรมชุมชน.ปีที่ 8 ฉบับที่ 46 เดือนตุลาคม 2552 .หน้า 39 – 40
2. อรสา ดิสถาพร. 2551. เอกสารวิชาการการพัฒนาพืชสมุนไพรจีนในประเทศไทย. สำนักส่งเสริม และจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์.หน้า 63 – 66
3. เจียวกู่หลาน Jiaogulan ไม่ใช่โสม แต่ดีกว่าโสม. ข้อมูลของเจียวกู่หลาน. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข
4. ปัญจขันธ์. สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://agriman.doae.go.th/home/Research/Herd/23/Health56.pdf
5. เย็นจิตร เตชะดำรงสิน.2547ข.ข้อมูลสำคัญของพืชสมุนไพรจีนในท้องถิ่น 31 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์2547 ณ. จ.นครราชสีมา.
6. วิทยา บุญวรพัฒน์.”เจียวกู่หลาน (ปัญจขันธ์) หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย.จีนที่ใช้บ่อยในประเทศไทยหน้า 188
7. F.Liu,D.Ren,De-an Guo,Y.Pan,H.Zhang,P.Hu,2008.Method development for gypenosides fingerprint by high performance liquid chromate graphy with diode – array detection and the addition of internal standard. Chem. Pharm. Bull. 56(3):389-393.
8. สุธรรม อารีกุล, จำรัส อินทร. การวิเคราะห์สาระสำคัญในเจียวกู่หลาน.คอลัมน์วิชาการน่ารู้ วารสารสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง.ปีที่ 5 ประจำเดือน มกราคม – มิถุนายน 2556.
9. กัลยา อนุลักขณาปกรณ์.2551.การศึกษาสรรพคุณและความปลอดภัย.ใน;ปราณี ชวสัตธำรง.จารีย์ บันสิทธิ์, กัลยา อนุลักขณาปกรณ์.ธิดารัตน์ บุญรอด และบุษราวรรณ ศรีวรรธนะ.สมุนไพรน่ารู้(2):ปัญจขันธ์.โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
10. สถาบันวิจัยสมุนไพรกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข ISBN 974-7549-68-3 หน้า 21
11. LIM JM, LIN CC, Chiu HF. Jang JJ, Lee SG Evalution of anti inflame matory and liver protect effects of Anoectochilus formosanus, Ganoderma luci dum and Gynostemma pentaphyllum in rats. Am J Chin Med 1993;21 (1):59-69
12. พนิดา ใหญ่ธรรมสาร.2549. เจียวกู่หลาน (ปัญจขันธ์),จุลสารข้อมูลสมุนไพร 23:2-9
13. เดลินิวส์ ออนไลน์. “ ปัญจขันธ์….สมุนไพรหลากสรรพคุณ. ” (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก www.dailynews.co.th.[3ส.ค.2014]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หญิงจำเป็นต้องรักษาสุขภาพด้วยสมุนไพรว่านชักมดลูก

สรรพคุณอันน่าทึ่ง 35 ประการของว่านชักมดลูก ขายว่านชักมดลูก มีความปลอดภัยมากยิ่งกว่า กวาวเครือขาว และยังช่วยทำให้ทำให้กล้ามเนื้อกระชับขึ้น  ...